การจัดการความรู้ในสถานศึกษา(School Knowledge Management)
การใช้กระบวนการจัดการความรู้ ในสถานศึกษา
การจัดการความรู้ในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น เป็นนวัตกรรมที่สถานศึกษาควรบริหารจัดการให้มีการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อให้เป้าหมายในการจัดการความรู้ที่ตั้งไว้บรรลุผล โดยคณะผู้จัดการความรู้ซึ่งจะต้องมีผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นประธาน จะต้องมาร่วมกันกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ เพื่อให้วิสัยทัศน์ และพันธกิจของสถานศึกษาบรรลุผล อาจจะเลือกกำหนดกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้จากยุทธศาสตร์ใดยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของสถานศึกษามาพัฒนาและกำหนดเป็นเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องของคุณภาพการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อน เพื่อให้มองเห็นภาพรวม และเป็นแนวทางไปสู่การจัดการความรู้ในสถานศึกษา ดังนั้นจึงสามารถสรุปขั้นตอนของกระบวนการจัดการความรู้ได้ดังนี้
1. การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification)
2. การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition)
3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization)
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement)
5. การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access)
6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing)
7.การเรียนรู้ (Learning)
ทั้ง 7 ขั้นตอนนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างและจัดการความรู้ทั้งที่มีอยู่เดิมและความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
กิจกรรมในการจัดการความรู้ในสถานศึกษา
1. การดึงความรู้ออกมาจาก “ครูต้นแบบ” และกระจายความรู้ให้แก่ครูคนอื่น
2. จัดให้มีการประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนหรือคุณภาพการศึกษา โดยอาจเป็นการประชุมตามปกติ หรือผ่านการสื่อสารทางไกลรูปแบบต่างๆ
3. จัดกระบวนการกลุ่มให้ครูผู้สอนในวิชาเดียวกันได้ระดมสมองแก้ปัญหาการเรียนการสอนรวมกัน โดยมีการผลัดกันทำหน้าที่ผู้จัดการความรู้
4. ค้นหาและส่งเสริมครูผู้สอนผู้ที่มีความสามารถพิเศษในด้านความรู้และทักษะการสอนนักเรียนและหาทางส่งเสริมให้อยู่ในสถานศึกษาด้วยการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน
5. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและกิจกรรม เพื่อพัฒนาครูในรูปแบบต่างๆ เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาครูแต่ละคนในสถานศึกษา
6. ส่งเสริม ยกย่องให้รางวัลแก่ครูผู้สอนที่มีการจัดการความรู้ที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันหรือการสอนงานครูรุ่นน้อง
7. จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าความรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการสอนให้บังเกิดผลดียิ่งขึ้น
8. การแลกเปลี่ยนความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน โดยใช้วิธีการผู้ฝึกสอนหรือการจัดเป็นทีมผู้สอน ทีมร่วมคิดร่วมทำงาน โดยการวางแผนการสอนเป็นทีม และใช้วิธีการประชุมแบบระดมสมอง
9. การแลกเปลี่ยนความรู้ที่ฝังในตัวคนโดยนำความรู้ในครูต้นแบบออกมานำเสนอในรูปแบบของการเล่าเรื่อง การเปรียบเทียบ และการเขียนรายงานเพื่อนำเสนอหรือเสนอโดยสื่ออิเลกทรอนิกส์ และทางที่ดีควรนำความรู้ที่ฝังลึกในตัวคนไปเปรียบเทียบกับผลการวิจัยเพื่อนำเสนอ วิเคราะห์ เพื่อการตรวจสอบความเหมือนหรือต่างกับทฤษฎี
กิจกรรมของการจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่ควรทำต่อเนื่องกัน อย่างไรก็ตามกิจกรรมการจัดการความรู้ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายรับรองว่าการจัดการความรู้จะบรรลุผล เพราะการจัดการความรู้จะบังเกิดผลได้ดีวัฒนธรรมของสถานศึกษานั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัฒนธรรมของการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน การร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ครูควรมีคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนการมีจิตใจมุ่งบริการและเป็น "ผู้ให้" ที่ดี
การจัดการความรู้สู่การปฏิบัติโดยใช้วงจรการจัดการความรู้
ในการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพผู้เรียนที่พึงประสงค์ คือผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตร และพันธกิจของสถานศึกษานั้น วงจรข้อมูลสาสนเทศและความรู้ ซึ่งเป็นวงจรที่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน และจะเป็นวงจรที่ทำให้เกิดการจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
วงจรการจัดการความรู้
ข้อมูล(Data) หมายถึง การขยายฐานของข้อเท็จจริงหรือเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถวัดได้ในสถานศึกษา ข้อมูลจะกลายเป็นสารสนเทศ (Information) เมื่อถูกนำมาจัดกระทำให้เป็นระบบโดยผ่านการตีความ แปลความ เช่น การรายงานผล และการจัดทำเป็นเอกสารสารสนเทศ ส่วนความรู้(Knowledge) คือความเข้าใจที่พัฒนาขึ้นมาจากข้อมูลและสารสนเทศเพื่อให้ครูผู้สอน/ผู้บริหารสามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบ และใช้ความรู้ที่มีคุณค่าต่อตัวเขาให้เป็นประโยชน์ เช่นความรู้ที่เกิดจากการกระทำ และเกิดจากประสบการณ์การสอนนักเรียน สรุปได้ว่าความรู้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆได้ ดังนั้น “ วงจรของข้อมูล- สารสนเทศ-ความรู้ ” จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการความรู้วงจรนี้และจะเป็นประโยชน์ในการประเมินว่าสถานศึกษาดำเนินการจัดการความรู้ได้ดีเพียงใด
ความคิดรวบยอด (โมเดล)
โมเดลกระบวนการจัดการความรู้ทำเป็นโมเดลปลาหมึก เพราะกระบวนการจัดการความรู้มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 7 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนต่างก็มีความสำคัญที่ไม่สามารถตัดอันใดอันหนึ่งออกไปได้ ถ้าตัดออกไปก็จะไม่ครบสมบูรณ์ เปรียบเสมือนหนวดของปลาหมึกที่มีความสำคัญต่อตัวปลาหมึก ถ้าขาดหนวดไปเพียงหนวดเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อตัวของปลาหมึกเองได้
ที่มา:
http://office.bopp.go.th/ubon1kmc/modules.php?name=News&file=article&sid=596
http://images.penja.multiply.multiplycontent.com/journal/item/14/14